คลองธงแดง เมืองหลินโจว Lin Zhou
คลองธงแดง
คลองธงแดง ตั้งอยู่ที่ เมืองหลินโจว (Lin Zhou) บริเวณรอยต่อทางเหนือสุดของ มณฑลเหอหนาน (Henan) กับตอนใต้ของ มณฑลเหอเป่ย (Hebei) และทิศตะวันออกของมณฑลซานซี (Shanxi) ซึ่งเมื่อ 40 ปีที่ผ่านมา มีขุดคลองไปบนหน้าผาของภูเขาไท่หางซาน เพื่อผันน้ำจากแม่น้ำจาง Zhang River ในมณฑลซานซี เข้าสู่มณฑลเหอเป่ย และเหอหนาน และคลองนี้กลายเป็นพรมแดนระหว่าง เหอเป่ย และเหอหนาน เป็นระยะทางยาวกว่า 70 กิโลเมตรวันนี้คลองนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นงานวิศวกรรมฝีมือมนุษย์ยุคใหม่อันน่าทึ่ง เมืองหลินโจว ตั้งอยู่ด้านตะวันออกของเทือกเขาไท่หางซาน สมัยก่อนเป็นเพียงอำเภอ ที่มีชื่อว่า หลินเซี่ยน (Lin Xian) ขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้มาแต่โบราณ จากบันทึกตั้งแต่ปลายราชวงศ์หมิง เมืองหลินโจวประสบกับภัยแล้งเป็นประจำ ครั้นถึงสมัยราชวงศ์ชิง ศักราช เฉียนหลง เต้ากวง และ กวงซวี่ ก็มีบันทึกเกี่ยวกับทุกขภิขภัยไม่หยุดหย่อน กระทั่งจีนได้เปลี่ยนการปกครองเป็นสาธารณรัฐแล้ว ช่วงระหว่างปี ค.ศ.1936-1943 เมืองหลินโจว ก็เจอกับภัยแล้งใหญ่ๆกว่า 20 ครั้ง ทำให้ประชากรเกือบสามแสนคน ในจำนวนทั้งหมดสี่แสน ต้องออกไปหาน้ำดื่มน้ำใช้ไกลออกไป บางครั้งห่างถึง 20 ลี้ (ราว 10 กิโลเมตร) ผู้นำชุมชนทั้งผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์ มีความคิดเห็นร่วมกันว่าจะต้องชักน้ำจากแม่น้ำจางที่ไหลอยู่บนภูเขาตอนใต้ของมณฑลเหอเป่ย อีกฟากหนึ่งของ ภูเขาไท่หางซาน อันสูงชัน เข้าสู่เมืองหลินโจวเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งถาวรโดยการไปสร้างเขื่อนในฟากโน้นกักน้ำให้สูงขึ้น ถึงระดับหนึ่งและก็เจาะภูเขาสร้างคลองทอดข้ามภูเขา เพื่อชักน้ำเข้าสู่พื้นที่อันแสนแห้งแล้งทางเหนือสุดมณฑลเหอหนาน งานก่อสร้างระดับอภิมหาโครงการ จึงเริ่มอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1960 โดยคลองชักน้ำมีจุดเริ่มต้นที่ ตำบลสือเฉิง ในมณฑลซานซี บริเวณเชิงเขาเป็นหน้าผาอันสูงตระหง่าน พวกเขาเริ่มสกัด ตัด เซาะ ขุด เจาะไปตามแนวเหลี่ยมผาไหล่เขา และหน้าผา บางตอนเป็นหน้าผาชันมาก ไม่สามารถทำแนวคลองลัดเลาะไปได้ก็เจาะภูเขาขุดเป็นอุโมงค์ มุดไปโผล่อีกด้านหนึ่ง กำแพงคูคลองสูง 4.3 เมตร กว้าง 8 เมตร ก็ค่อยปรากฏกายทอดยาวลัดเลาะอยู่บนแนวไหล่เขา นับเป็นภูมิปัญญาอันล้ำเลิศของชาวบ้าน โดยเนรมิตสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อนจะสามารถทำได้ด้วยสองมือมนุษย์ ไม่มีอุปกรณ์ก่อสร้างอันทันสมัยสิ่งใดช่วยเหลือเลย โดยทหารจากกองทัพปลดปล่อยของพรรคคอมมิวนิสต์ ร่วมกับชาวบ้านอีก 3,700 คนร่วมมือกันสร้างคลองมหัศจรรย์สายนี้ในตอนต้น แต่ในระยะต่อมา มีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการนี้เป็นหมื่นๆ คน เพราะนอกจากคลองส่งน้ำหลักที่มีความยาวราว 70 กิโลเมตร สามารถส่งน้ำได้ปริมาณ 23 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีแล้ว ยังต้องสร้างคลองส่งน้ำสาขา อ่างกักเก็บน้ำ และคลองชลประทานอีกจำนวนมาก เพื่อให้น้ำไหลไปทุกตารางกิโลเมตรของอำเภอหลินโจว รวมๆแล้ว ชาวหลินโจวได้ร่วมด้วยช่วยกันสร้างคลองน้อยใหญ่ นับเป็นความยาวได้ หลายพันกิโลเมตร จนกระทั่งสำเร็จเรียบร้อยในเดือนกรกฎาคม ค.ศ.1969 อุปมาว่าชาวอำเภอหลินโจว ได้สร้าง กำแพงเมืองจีนยุคใหม่ เป็น คูน้ำ ก็ว่าได้ และเพื่อเป็นการรำลึกถึงวีรกรรมของทหารจากกองทัพปลดปล่อย ซึ่งเป็นหัวหอกในการสร้างคลองสายนี้ จึงใช้ ธงแดง ที่เป็นสัญลักษณ์ ในการตั้งชื่อ เรียกกันว่า หงฉีฉวี หรือ คลองธงแดง